ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21
ที่เขียนโดย ศ. น.พ.วิจารณ์ พานิช
ได้กล่าวว่า การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่คนทุกคนต้องเรียนรู้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัยและตลอดชีวิตคือ 3R
x 7C กล่าวคือ 3R ได้แก่
1. Reading (อ่านออก)
2. (W)Riting (เขียนได้)
3. (A)Rithmetics (คิดเลขเป็น)
และ 7C ได้แก่
1.Critical
thinking & problem solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
และทักษะในการแก้ปัญหา)
2. Creativity
& innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม)
3. Cross-cultural understanding (ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม
ต่างกระบวนทัศน์)
4. Collaboration,
teamwork & leadership (ทักษะด้านความร่วมมือการทำงานเป็นทีม
และภาวะผู้นำ)
5. Communications,
information & media literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อ)
6. Computing
& ICT literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์
และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
7. Career
& learning skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้)
ดังนั้นทักษะของคนต้องเตรียมคนออกไปเป็น Knowledge Worker โดยครูเพื่อศิษย์นั้นจะต้อง
เปลี่ยนแปลงตัวเองโดยสิ้นเชิงเพื่อให้เป็น “ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21” ไม่ใช่ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 20 หรือศตวรรษที่ 19 ที่เตรียมคนออกไปทำงานในสายพานการผลิตในยุคอุตสาหกรรม การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องเตรียมคนออกไปเป็นคนทำงานที่ใช้ความรู้ (Knowledge Worker) และเป็นบุคคลพร้อมเรียนรู้ (Learning Person)
ไม่ว่าจะประกอบสัมมาชีพใด มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นบุคคลพร้อมเรียนรู้
และเป็นคนทำงานที่ใช้ความรู้ แม้จะเป็นชาวนาหรือเกษตรกรก็ต้องเป็นคนที่พร้อมเรียนรู้
และเป็นคนทำงานที่ใช้ความรู้ ดังนั้นทักษะสำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 21 จึงเป็นทักษะของการเรียนรู้ (Learning Skills)
ครูเพื่อศิษย์เองต้องเรียนรู้ 3R x 7C และต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต
แม้เกษียณอายุจากการเป็นครูประจำการไปแล้วเพราะเป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิตของตนเองระหว่างเป็นครูประจำการก็เรียนรู้สำหรับเป็นครู
เพื่อศิษย์และเพื่อการดำรงชีวิตของตนเองโดยย้ำว่าครูต้องเลิกเป็น “ผู้สอน”
ผันตัวเองมาเป็นโค้ช หรือ Facilitator ของการเรียนของศิษย์ที่ส่วนใหญ่เรียนแบบ PBL คือโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 ต้องเลิกเน้นสอน
หันมาเน้นเรียน เน้นทั้งการเรียนของศิษย์และของครู
“การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ควรจะมีลักษณะอย่างไร”
โดยที่การศึกษาในประเทศไทยนั้นได้ยึดหลักของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ตามความคิดของนักคอนสตรัคติวิสต์(Constructivist)
ที่เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจากการที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้
นักจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คือ Piaget นักจิตวิทยาชาวสวิส และ Vygotsky นักจิตวิทยาชาวรัสเซียPiaget เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ที่ช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างความรู้ความคิด
เกิดการเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่ ส่วน Vygotsky อธิบายหลักการสำคัญว่าผู้เรียนจะมีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ในระดับหนึ่ง
และจะสามารถก้าวไปยังระดับการเรียนรู้ที่สูงขึ้นตามศักยภาพที่มีอยู่เมื่อได้รับการแนะนำช่วยเหลือจากผู้รู้
แนวความคิดของทั้ง Piaget และ Vygotsky มีส่วนที่คล้ายคลึงกันตรงการมีปฏิสัมพันธ์เพื่อนำสู่การเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์เดิมและประสบการณ์ใหม่
และการไปถึงระดับที่ผู้เรียนมีศักยภาพ
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลง
ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น
ทำให้วงการการศึกษาในประเทศไทยจำเป็นต้องตอบสนองต่อความท้าทายที่ต้องเผชิญอยู่นี้
เราต้องการรูปแบบการทำงานที่สามารถพัฒนากรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อที่สามารถจัดการศึกษาตอบสนองต่อความต้องการที่กำลังเปลี่ยนแปลงของสังคมซึ่งเยาวชนไทยกำลังเผชิญอยู่
จากบทแรกเราทราบนิยามของทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ในบทนี้เราจะมาตีความหมายและพยายามทำความเข้าใจว่าครูที่มีหน้าที่สอนนั้นจะออกแบบบทเรียนอย่างไรเพื่อให้นักเรียนสามารถบรรลุเป้าหมายเกิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เมื่อเราอ่านนิยามของทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 จะเห็นได้มุมมองของนักการศึกษาที่ต้องการให้นักเรียนในอนาคตมีคุณลักษณะดัง 4 ประการนี้
1. วิถีทางของการคิด ได้แก่ สร้างสรรค์ คิดวิจารณญาณ การแก้ปัญหา
การเรียนรู้และตัดสินใจ (Ways of
Thinking. Creativity, Critical Thinking, Problem-solving, decision- Making and
Learning)
2. วิถีทางของการทำงาน ได้แก่ การติดต่อสื่อสาร และการร่วมมือ (Ways
of Working. Communication and Collaboration)
3. เครื่องมือสำหรับการทำงาน ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ และความรู้ด้านข้อมูล
(Tools for Working. Information and
Communications Technology (ICT)
and Information Literacy)
4. ทักษะสำหรับดำรงชีวิตในโลกปัจจุบัน ได้แก่ ความเป็นพลเมือง ชีวิตและอาชีพ
และ ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม (Skills for Living in the World. Citizenship, Life and Career, and Personal and Social
Responsibility)
จากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมในยุคปัจจุบัน
ทำให้การจัดการเรียนการสอนต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
โดยนักการศึกษาได้มีการนำเสนอหลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสามารถสรุปประเด็นสำคัญของลักษณะการจัดการเรียนรู้ได้ดังนี้
1. มนุษย์มีรูปการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
ผู้สอนจึงต้องใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย
หากผู้สอนนำรูปแบบการเรียนรู้แบบใดแบบหนึ่งไปใช้กับผู้เรียนทุกคนตลอดเวลา
อาจทำให้ผู้เรียนบางคนเกิดอาการตายด้านทางสติปัญญา
2. ผู้เรียนควรเป็นผู้กำหนดองค์ความรู้ของตนเอง
ไม่ใช่นำความรู้ไปใส่และให้ผู้เรียนดำเนิน รอยตามผู้สอน
3. โลกยุคใหม่ต้องการผู้เรียนซึ่งมีวินัย
มีพฤติกรรมที่รู้จักยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม
ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นแบบเผด็จการ แบบให้อิสระ หรือแบบประชาธิปไตย
4. เนื่องจากข้อมูลข่าวสารในโลกจะทวีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทุกๆ 10 ปี
โรงเรียนจึงต้องใช้วิธีสอนที่หลากหลาย โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ กัน
5. ให้ใช้กฎเหล็กของการศึกษาที่ว่า “ระบบที่เข้มงวดจะผลิตคนที่เข้มงวด” และ
“ระบบที่ยืดหยุ่นจะผลิตคนที่รู้จักคิดยืดหยุ่น”
6. สังคม หรือชุมชนที่มั่งคง ร่ำรวยด้วยข้อมูลข่าวสาร
ทำให้การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายๆ สถานที่
7. การเรียนรู้แบบเจาะลึก (Deep Learning)
มีความจำเป็นมากกว่าการเรียนรฝฦแบบผิวเผิน (Shallow Learning)
หมายความว่า จะเรียนอะไรต้องเรียนให้รู้จริง ให้รู้ลึก รู้รอบ ไม่ใช่เรียนแบบงูๆ
ปลาๆ ดังจะเห็นจากในอดีตว่ามีการบรรจุเนื้อหาไว้ในหลักสูตรมากเกินไป
จนผู้เรียนไม่รู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร และสิ่งที่เรียนไปแล้วมีความสัมพันธ์อย่างไร
การสอนที่จัดว่ามีประสิทธิภาพ
ครูนั้นต้องมีคุณสมบัติมากกว่าการเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สอน (Instructor) ครูต้องมีลักษณะของผู้ที่สามารถชี้แนะการเรียนรู้ (Learning
Coaching)
และสามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำนักเรียนท่องเที่ยวไปสู่โลกแห่งการเรียนรู้ได้ (Learning
Travel Agent)
จากที่กล่าวมานั้นบทบาทของครูจากยุคสมัยก่อนจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อก้าวสู่ยุคแห่งศตวรรษที่ 21 ครูในโลกยุคใหม่ต้องมีความรอบรู้มากกว่าการเป็นผู้ดูแลรายวิชาที่สอนเท่านั้น
แต่ครูมีบทบาทของการเพิ่มพูนความรู้แก่นักเรียน
เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ
ในศตวรรษที่ 21 การจัดการเรียนรู้นั้นต้องมีความสัมพันธ์ มีขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นลำดับที่ผู้เรียนสามารถมีส่วนร่วมกับการเรียนการสอน
เช่น การกำหนดปัญหาที่สนใจและการทำกิจกรรมกลุ่ม
เพื่อให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์และสามารถบูรณาการกับรายวิชาอื่นๆ ได้
ในศตวรรษที่ 21 ไอซีทีได้เข้ามาบทบาททางการศึกษาและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก
ไอซีทีในปัจจุบันจึงไม่ใช่เป็นเพียงแหล่งข้อมูลข่าวสารเท่านั้น
“ครูสามารถบูรณาการความก้าวหน้าทางไอซีทีกับการจัดการเรียนรู้ได้อย่างไร”
การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี (Technology-based
Learning) ครอบคลุมวิธีการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบได้แก่ การเรียนรู้บนคอมพิวเตอร์
(Computer-based Learning)
การเรียนรู้บนเว็บ (Web-based Learning)
ห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classrooms)
ความร่วมมือดิจิตอล (Digital Collaboration)
เป็นต้นผู้เรียนสามารถเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท เช่น อินเทอร์เน็ต
(Internet) อินทราเน็ต (Intranet)
เอ็กซ์ทราเน็ต (Extranet) การถ่ายทอดผ่านดาวเทียม (Satellite
broadcast) แถบบันทึกเสียงและวิดีทัศน์ (Audio/Video
Tape) โทรทัศน์ที่สามารถโต้ตอบกันได้ (Interactive TV) และซีดีรอม (CD- ROM) การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับแต่อย่างไรก็ตาม
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่งของเทคโนโลยี ทำให้ผู้สอนจำเป็นต้องศึกษา หาความรู้และเตรียมพร้อมตนเองเพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเหล่านี้ในการเรียนการสอนวิธีการเตรียมตัวในการใช้เทคโนโลยีในการสอนคือ
เทคนิครู้เขารู้เรา โดยสิ่งที่ครูต้องรู้มี 2 ประการคือ
(1) การรู้และเข้าใจศักยภาพของทรัพยากรที่โรงเรียนมี เช่น
ครูต้องรู้ว่าในโรงเรียนมีอะไรที่สามารถใช้เป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้
โดยปกติแล้วสิ่งที่โรงเรียนมีคือ ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องโสตทัศนศึกษา
ห้องเรียนที่มีเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ หรือแบบโน้ตบุ๊ค
รวมไปถึงระบบขยายเสียง (2)
ครูต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอน
รวมไปถึงข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ โปรแกรมประยุกต์ที่เป็นประโยชน์ในการเรียนการสอน
สื่อภาพและเสียง วิดิทัศน์ ข่าวและประเด็นที่เป็นที่สนใจ เป็นต้น
เทคโนโลยีที่ครูสามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิด
มีจำนวนมาก และครูสามารถเลือกใช้ได้ตามความถนัดหรือความสนใจ
สมรรถนะ
สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน (Competencies of learners) หมายถึง
คุณลักษณะที่เด็กทุกคนมีและใช้ได้อย่างเหมาะสม
เพื่อผลักดันให้ผลการปฏิบัติงานบรรลุตาม เป้าหมาย ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้ได้แก่
ความรู้ ทักษะ บุคลิกภาพ แรงจูงใจทางสังคมลักษณะ นิสัยส่วนตัว
ตลอดจนรูปแบบความคิดและวิธีการคิด ความรู้สึกและการกระทำ
ซึ่งการพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข
มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด
ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต
และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนมีความสำคัญอย่างไร?
ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดให้สมรรถนะสำคัญ 5 ประการของผู้เรียน เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา
มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีระดับโลก
ดังนี้ความสามารถในการสื่อสาร เป็นความสามารถในการรับและส่งสาร
มีวัฒนธรรมในการใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก
และทัศนะของตนเอง
เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม
รวมทั้งการเจรจาต่อรอง เพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ
การเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลข่าวสาร ด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง
ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
โดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม ความสามารถในการคิด
เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ
เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศ เพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม
ความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ
ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสม บนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรม และข้อมูลสารสนเทศ
เข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคม แสวงหาความรู้ ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันแก้ไขปัญหา
และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง สังคม
และสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่างๆ
ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคม
ด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหา
และความขัดแย้งต่างๆ อย่างเหมาะสม
การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม
และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น
ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เป็นความสามารถในการเลือกและใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ
และมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ในด้านการเรียนรู้
การสื่อสาร การทำงาน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม สมรรถนะสำคัญของผู้เรียนมีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร?
เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ แต่เด็กคือเด็กที่มีความรู้สึก
ความคิดเห็นของตนเอง
ซึ่งจะถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่จะช่วยนำพาเข้าสู่เส้นทางที่ถูกที่ควร
มีโอกาสและเข้าถึงโอกาสที่จะได้รับความรักและการปกป้องดูแล เด็กจึงจะเจริญเติบโต
เป็นเด็กแข็งแรง เก่ง ดี มีสุขอย่างสมดุล เพราะการดำเนินชีวิตของเด็กหมายถึง
เรื่องของชีวิตที่เป็นอยู่ทั้งหมด
ซึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติหรือโลก
ในระบบความสัมพันธ์นี้ สิ่งทั้งหลายเป็นเหตุปัจจัยส่งผลกระทบต่อกัน เมื่อระบบสัมพันธ์นี้ดำเนินไป
ถ้าองค์ประกอบบางอย่างมีพฤติกรรมหรือความเป็นไปที่ไม่ดี
ก็จะเกิดผลเสียต่อระบบทั้งหมด เพราะในโลกหรือธรรมชาติที่เป็นระบบความสัมพันธ์
ซึ่งทุกอย่างเป็นหน่วยย่อยสัมพันธ์กันนี้ มนุษย์เป็นองค์ประกอบพิเศษ
ที่สามารถฝึกฝน เรียนรู้ และพัฒนาได้ ถ้ามนุษย์ได้พัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติที่ดีแล้ว
ก็จะประเสริฐ เป็นปัจจัยที่ดีในระบบองค์รวม
ซึ่งจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ในระบบให้ดีขึ้นการพัฒนาสมรรถนะของเด็กซึ่งเป็นองค์รวมอยู่ในตัว
และการทำงานของชีวิต คือ การดำเนินชีวิต ก็เป็นองค์รวม การพัฒนาสมรรถนะโดยใช้
ภาวนา 4 จะเกิดประโยชน์ต่อเด็ก
ดังนี้การพัฒนาด้านการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ เรียกว่า กายภาวนา หมายถึง
การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ เครื่องใช้ไม้สอย เทคโนโลยี อาหารการกิน
สิ่งบริโภค สิ่งที่พบเห็น ได้ยิน ได้ฟัง คือ ประสบการณ์ต่างๆ ให้เกิดผลดี เช่น
กินอาหาร พัฒนาร่างกายให้แข็งแรงเจริญเติบโต มีสุขภาพดี ใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
ฟังวิทยุ ดูทีวี จะทำให้เด็กสามารถ เลือกและใช้เทคโนโลยี
เพื่อการพัฒนาตัวเองได้อย่างถูกต้อง
การพัฒนาด้านการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมกับเพื่อนมนุษย์ เรียกว่า ศีลภาวนา
หมายถึง การอยู่ร่วมกัน ตั้งแต่ในครอบครัว ให้เป็นความสัมพันธ์ที่ดี
ช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อน ไม่ทำร้าย ไม่ละเมิด
แต่มีความสามารถใน การใช้ทักษะชีวิต ทำให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี
มีความสัมพันธ์ที่ดีงาม เกื้อกูล และ สื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อันเป็นการสร้างประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและสังคม การพัฒนาด้านจิตใจ เรียกว่า
จิตภาวนา หมายถึง สภาพจิตใจ ทั้งความรู้สึก/อารมณ์ ความสุข ความทุกข์ ความเข้มแข็ง
เรื่องของคุณธรรม ความดี เรื่องของสมรรถภาพจิตใจ ความเข้มแข็ง หมั่นเพียร อดทน
ความมีสติ สมาธิ ฯลฯ และด้านความสุข ความสดชื่น เบิกบาน ทุกอย่างที่อยู่ในจิตใจ
นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ที่ทำให้เด็กเกิด ความสามารถในการคิด
เพื่อตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม การพัฒนาด้านความรู้
ความเข้าใจ เรียกว่า ปัญญาภาวนา หมายถึง ความรู้ความเข้าใจที่เน้นการรู้ตรงตามเป็นจริง
หรือรู้ตามที่มันเป็น การรู้จักคิด ความมีเหตุผล การรู้จักแสวงหาความรู้
และการแสดงความคิดเห็น ที่จะนำเด็กไปสู่ ความสามารถในการแก้ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ
ที่เผชิญได้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรม และข้อมูลสารสนเทศ
ทำให้เกิดการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง
สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ว่าเป็นองค์รวม นั่นคือ
ในขณะที่เรามีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะสัมพันธ์ด้วยกาย วาจา
หรือด้วยอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น ก็ตาม จิตใจของเราก็มีความสัมพันธ์ด้วย
เรามีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิ่งที่เรากำลังเกี่ยวข้องอยู่
และในด้านปัญญาเราก็มีความรู้ เข้าใจ ความคิด แนวคิด ความเชื่อ
หรือค่านิยมต่อสิ่งนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย ทุกด้านทำงานไปด้วยกัน
มีอิทธิพลต่อกัน แม้ว่าเราจะไม่รู้ตัว ดังนั้น การจะพัฒนาผู้เรียนให้เป็นทั้งคนดี
มีปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีระดับโลก
จึงต้องพัฒนาให้เด็กมีความสามารถในการสื่อสาร รับ-ส่งสาร ใช้ภาษาถ่ายทอด
ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการคิด
สามารถคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ
และคิดเป็นระบบ เพื่อสร้างองค์ความรู้ หรือเพื่อตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
มีความสามารถในการแก้ปัญหา บนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรม และข้อมูลสารสนเทศ
มีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต โดยนำกระบวนการต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
ทำงานและอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเหมาะสม สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง
และรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น
นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาตนเองและสังคม
ในด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร การทำงาน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง
เหมาะสม และมีคุณธรรมครูจัดกิจกรรมส่งเสริมสมรรถนะสำคัญให้ลูกอย่างไร?
ความเจริญก้าวหน้าของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน
ครูจำเป็นต้องเตรียมเด็กให้รับมือกับสภาพแวดล้อมและความเจริญของยุคสมัย
ด้วยการให้เด็กมีคุณสมบัติพร้อมที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมและมีชีวิตในสังคมนี้อย่างดีที่สุด
โดยการสอน อบรม แนะนำ ปลูกฝังเด็ก ดังนี้เข้าถึงธรรมชาติ
รู้จักปฏิบัติต่อวัตถุสร้างสรรค์ของมนุษย์ ตลอดจนเทคโนโลยี ด้วยการให้เกิดความสำนึกตระหนัก
เกื้อกูลหนุนกัน ปลูกฝังให้เด็กใช้วัตถุสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเทคโนโลยี
โดยไม่แปลกแยกกับธรรมชาติ พัฒนาให้เด็กเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ
และมีความสุขได้ในท่ามกลางธรรมชาติ ไม่ขาดไมตรี คือ มีทักษะชีวิต
อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ มีความพร้อมที่จะอยู่ร่วมอย่างสร้างสรรค์สังคม ที่หมายถึง
สิ่งแวดล้อมด้านเพื่อนมนุษย์ สิ่งแวดล้อมด้านธรรมชาติ รวมถึงโลกแห่งวัตถุทั้งหมด
ผู้ใหญ่จะต้องเปลี่ยนแปลงให้เด็กมีการพัฒนาในทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และเกื้อกูล
ไม่เห็นแก่ตัว มีจิตตั้งมั่น ไม่ประมาท ไม่หลงใหลเพลิดเพลินไปกับสิ่งภายนอกที่มาล่อชักจูง
มีจิตใจเข้มแข็ง
มีพื้นฐานจิตใจที่มุ่งมั่นจะพัฒนาชีวิตของตนให้เจริญงอกงามขึ้นไปจนเต็มสุดศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ของคน
พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข และสามารถเข้าถึงความสุขที่สูงขึ้น ลึกซึ้งขึ้น
ใช้ปัญญาพาชีวิตถึงจุดหมาย มีปัญญาสามารถคิดแก้ปัญหาได้
และนำทางพาชีวิตไปให้ถึงจุดหมาย
ข้อนี้เป็นข้อที่จะทำให้ทุกข้อที่กล่าวมาบรรลุผลสำเร็จ เป้าหมายที่แท้จริงก็คือ
เราต้องการให้เด็กเกิดมี ปัจจัยภายใน คือ คุณสมบัติในตัวเขาเอง
ที่จะมีความสุขในการเรียน ครู ผู้เป็น ปัจจัยภายนอก ที่ดี จึงต้องหาทางจัดการต่างๆ
เพื่อเป็นตัวกลางในการเหนี่ยวนำให้เด็กพัฒนาคุณสมบัติที่เป็นปัจจัยภายในของเขาเองขึ้นมา
โดยทำบทเรียนและกิจกรรมให้สนุกสนานที่จะปลุกเร้าความสนใจในการเรียน
ซึ่งถ้าเด็กมีความสนใจในเนื้อหาสิ่งที่เรียนแล้ว
ก็จะเริ่มมีความสุขในการเรียนสิ่งนั้น แล้วความสุขก็จะพัฒนาไปกับความก้าวหน้าในการเรียนที่เด็กได้เกิดความรู้
เข้าใจ และมีความอยากเรียนรู้เพิ่มขึ้น ความสุขที่เกิดจากปัจจัยภายในของเด็กเอง
ก็จะบรรลุเป้าหมาย แต่ถ้าเด็กติดอยู่แค่การจัดตั้ง
ต้องรอให้ปัจจัยภายนอกมาจัดให้เด็กได้เรียนอย่างสนุกเรื่อยไป หรือเกิดเป้าหมายพลิกผันไป
กลายเป็นว่าเด็กติดอยู่ที่ความสุขที่ครูจัดให้นั้น เด็กจะกลายเป็นผู้พึ่งพา
ต้องขึ้นกับปัจจัยภายนอกที่ครูจัดตั้ง เด็กต้องรอ และครูต้องจัดตั้งกันเรื่อยไป
ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ไม่มีใครมาคอยจัดตั้งให้ เด็กจะอยู่กับความสุข
ความทุกข์ที่จะมีจะเป็นตามธรรมดา เด็กจะต้องเผชิญกับสิ่งทั้งหลาย
โดยเอาปัจจัยภายใน คือ ปัญญาของตนมาใช้ปฏิบัติจัดการกับปัญหาต่างๆ
รวมทั้งสามารถที่จะมีจะสร้างความสุขในตัวเอง
ถ้าครูไม่สามารถใช้ความสุขจัดตั้งปลุกเร้าให้เด็กเกิดปัจจัยภายในที่จะมีความสุขด้วยตนเอง
แต่กลับทำให้เด็กมีความสุขที่ขึ้นกับการจัดตั้งแล้ว
เด็กจะกลายเป็นนักพึ่งพาและจะยิ่งอ่อนแอลง ต่อไป เมื่อไม่มีใครจัดตั้งความสุขให้
เด็กก็จะทุกข์หนัก ทุกข์ง่าย และสุขยากขึ้นเรื่อยๆการศึกษาแบบมีเด็กเป็นศูนย์กลาง
จึงเป็นเป้าหมายสำคัญ ที่ครูจะจัดสรรโอกาสให้เด็กสามารถสร้างสรรค์ด้วยตัวเด็กเอง
ให้เด็กจะมีความสุขจากการทำและพัฒนาชีวิตด้านต่างๆ ให้สูงขึ้นไป ดังนั้น
ทางบ้านควรประสานกับทางโรงเรียน ดังนี้จัดให้มีการ พบกัลยาณมิตร
จัดสิ่งแวดล้อมทางสังคม ตั้งแต่พ่อแม่ คนในครอบครัว ครู เพื่อน
ที่จะมีอิทธิพลชักจูงโน้มนำเด็กไปในทางที่ดี จัดวางระเบียบแบบแผนที่จะสร้างเป็นวิถีชีวิตขึ้นมา
ด้วยการ กำหนดวินัยที่เป็นรูปธรรม เช่น กฎกติกา
ซึ่งควรเป็นไปด้วยความตกลงยอมรับร่วมกัน ชี้แจงอธิบายให้เข้าใจเหตุผล
เห็นประโยชน์ว่า กฎกติกานั้นจะมาช่วยให้เด็กถอนตัวจากสิ่งที่เขารู้ว่ามีโทษ
แต่เขาติดอยู่นั้นได้สำเร็จ เพราะวินัยคือการจัดสรรโอกาสที่จะทำให้คนมีโอกาสในการจะทำอะไรให้สำเร็จถึงจุดหมายที่ต้องการ
เปลี่ยนแนวคิดใหม่ ให้มีแนวคิดที่จะสร้างทัศนคติต่อโลกและชีวิต ด้วยการ
เข้าใจความสุขที่ไร้การเบียดเบียน ที่ต่างจากความสุขที่เป็นนายเหนือธรรมชาติ
ระบบการศึกษาจะต้องพัฒนาให้เด็กมีแนวคิด มีทัศนคติในการมองโลกว่า
เป็นระบบความสัมพันธ์ที่เราเองเป็นส่วนร่วมอันหนึ่ง และเราเป็นส่วนร่วมพิเศษ
ที่จะต้องพัฒนาตัวเองให้มีชีวิตที่ดีของตนเอง ร่วมเกื้อหนุนโลกให้ดีงาม
เป็นโลกที่เป็นสุข ไร้การเบียดเบียน พ่อแม่ ผู้ปกครองจะส่งเสริมสมรรถนะสำคัญของลูกอย่างไร?
การศึกษาเริ่มต้นในครอบครัว เพราะพ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก
พ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูกรู้จักใช้อินทรีย์เพื่อการเรียนรู้ จนเกิดเป็นนิสัย คือ
ดูเป็น ฟังเป็น ไม่ติดอยู่แค่ความรู้สึก ชอบ-ไม่ชอบ อยาก-ไม่อยาก หรือแค่ลุ่มหลง
เพลิดเพลิน เอาแต่สนุกสนาน มัวเมา แต่สามารถได้ความรู้ ได้ความคิด ได้คติ
ได้ประโยชน์ สิ่งที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูก มีดังนี้ความใฝ่รู้
ให้ลูกมีจิตสำนึกในการฝึกตน รู้ว่าชีวิตของเราจะดี ถ้าได้ฝึกตัวเอง
และเข้าใจได้ว่า ถ้าเจอสิ่งที่ยากหรือสถานการณ์ที่ยาก ก็จะได้ฝึกตัวเองมากขึ้น
และสามารถชอบสิ่งที่ยากเหล่านี้ได้ หากลูกไม่ได้ฝึก ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้พัฒนา
จะมีแต่ความทุกข์ เพราะต้องฝืนใจ ทำแล้วไม่ได้ผล จึงเสียสุขภาพจิต ในทางกลับกัน
เด็กที่ใฝ่ฝึกฝน ต้องการเรียนรู้ พัฒนาตน และทำด้วยความเต็มใจ ทั้งสุขภาพจิตก็ดี
มีแต่ความสุข และสามารถทำให้สำเร็จได้ผลด้วย
ซึ่งจะทำให้ลูกพัฒนาความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต ด้วยการนำกระบวนการต่างๆ
ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และอยู่ร่วมกันในสังคม
ด้วยความสัมพันธ์อันดีต่อผู้อื่น และช่วยให้ลูกมีความสามารถในการแก้ปัญหา
ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผลและคุณธรรม รู้จักคิด
เวลาลูกจะทำอะไรสักอย่าง พ่อแม่ควรหัดให้ลูกได้คิดว่า
กิจกรรมที่เรากำลังจะทำอยู่นี้ จะก่อความเดือดร้อนเบียดเบียนแก่ผู้อื่น
หรือแก่สังคม หรือเป็นไปเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
เป็นกิจกรรมในทางสร้างสรรค์หรือทำลาย สภาพจิตใจของลูกเป็นอย่างไร ทำด้วยความสุข
เบิกบาน ผ่องใส มีความตั้งใจหรือแรงจูงใจที่ดี อยากจะช่วยเหลือ
อยากจะทำให้เป็นประโยชน์ หรือเพียงแต่เห็นแก่ตัว อยากจะได้เพื่อตัวเอง
หรือโกรธเคือง อยากทำร้ายใคร จากนั้นดูว่า ลูกรู้เข้าใจสิ่งที่กำลังจะทำชัดเจนไหม
มีเหตุผลอย่างไรในการที่จะทำ ทำไปแล้วจะเกิดผลดี-ผลเสียตามมาอย่างไร
ช่วยให้ลูกได้พัฒนา ความสามารถในการคิด นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้
เพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม
และยังเป็นฝึกฝนพัฒนาความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพของลูกอีกด้วย
ฝึกลูกจากวิถีชีวิตที่ดีงาม ตั้งแต่การกินอาหาร หัดให้ลูกกินเป็น ใช้เป็น
บริโภคเป็น คือ รู้จักกินใช้ด้วยปัญญา
มองเห็นความหมายและเหตุผลในการกินใช้บริโภคนั้น พ่อแม่ควรถามลูกว่า
เรากินอาหารเพื่ออะไร วัตถุประสงค์ที่แท้ของการกินอาหารคืออะไร
จากคำถามก็ทำให้เด็กได้คิด ซึ่งเด็กอาจจะไม่เคยคิดเลย เมื่อคิดลูกก็จะค้นหาคำตอบได้ว่า
เรากินอาหาร เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี เมื่อลูกรู้เช่นนี้
ก็จะกินอย่างมั่นใจ รู้เข้าใจจุดหมายในการกิน ไม่กินเพียงเพื่อความอร่อย
นอกจากนี้ยังช่วยให้ลูกมี ความสามารถในการเลือกใช้เทคโนโลยี
เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคมได้อย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม
เกร็ดความรู้เพื่อครู
การส่งเสริมสมรรถนะของผู้เรียน
ซึ่งเป็นคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากความรู้ ทักษะ ความสามารถ
และคุณลักษณะอื่นๆ ที่ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ หรือปฏิบัติงาน
หรือสร้างผลงานได้โดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมงานอื่นๆ
ในชั้นเรียนครูควรส่งเสริมด้านต่างๆ ดังนี้ทักษะ (Skills) หมายถึง สิ่งที่เด็กกระทำได้ดี
และฝึกปฏิบัติเป็นประจำจนเกิดความชำนาญ เช่น ทักษะการอ่าน การเขียน ความรู้ (Knowledge) หมายถึง ความรู้เฉพาะด้านของเด็ก เช่น ความรู้ภาษาอังกฤษ ความรู้รอบตัว
เป็นต้น ภาพลักษณ์ภายในตน (Self-image / Self-concept) หมายถึง
ทัศนคติ ค่านิยม และความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตนเอง
หรือสิ่งที่เด็กเชื่อว่าตนเองเป็น เช่น คนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง
จะเชื่อว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ คุณลักษณะภายในหรืออุปนิสัย (Traits) หมายถึง บุคลิกลักษณะประจำตัวของเด็ก เป็นสิ่งที่อธิบายถึงเด็กคนนั้น เช่น
เป็นคนที่น่าเชื่อถือ และไว้วางใจ หรือมีลักษณะเป็นผู้นำ เป็นต้น แรงจูงใจ (Motive) หมายถึง แรงขับภายใน
ซึ่งทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่มุ่งสู่สิ่งที่เป็นเป้าหมาย เช่น
เด็กที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ มักชอบตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย
และพยายามทำงานสำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้
ตลอดจนพยายามปรับปรุงการทำงานของตนเองตลอดเวลา
การประเมินผลหลักสูตร
การประเมินหลักสูตรมีความสำคัญอย่างมากในกระบวนการจัดการศึกษา เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการควบคุมคุณภาพ การประกันคุณภาพของการศึกษาหลายๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับห้องเรียน ระดับโรงเรียน ระดับเขตจนถึงระดับชาติ ผู้ที่มีบทบาทในการประเมินทั้งในระดับผู้จัดทำนโยบายการศึกษา ผู้กำกับดูแล จนถึงระดับผู้ปฏิบัติ จึงควรทำความเข้าใจกับประเด็นต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการประเมินหลักสูตรให้ชัดเจน เพื่อจะได้กำหนดวางแผนการประเมินหลักสูตรที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการประเมิน และสามารถนำผลการประเมินหลักสูตรไปใช้ได้จริง
ความหมายของการประเมินผลหลักสูตร
การประเมินผล (Evoluation)
เป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูล และสารสนเทศตลอดจนกิจกรรมต่างๆ
ของโครงการเพื่อนำมาวิเคราะห์ สรุปผลให้ผู้บริหารหรือผู้วินิจฉัยสั่งการ
การเลือกดำเนินงานให้เหมาะสมที่สุดในสถานการณ์นั้น อาจกล่าวได้ว่าการประเมินผลเป็นการวางแผน การติดสินใจ การพัฒนาและความเหมาะสมของโครงการ
(เสนีย์ พิทักษ์อรรณพ, 2524,
หน้า 42) หรือการประเมินผล หมายถึงกระบวนการตัดสินคุณค่าหรือความน่าพึงพอใจในลักษณะพฤติกรรมหรือการดำเนินงานต่างๆ (สงบ ลักษณะ, 2524,
หน้า 37)
สำหรับการประเมินผลหลักสูตรนั้น เป็นการประเมินผลที่ย่อยมาจากการประเมินผลการศึกษา ประเมินผลที่ตัวหลักสูตร แต่ความหมายของหลักสูตรนั้นกินความหมายที่กว้างมาก
คือ โปรแกรมการศึกษาใดๆ ที่กำหนดเค้าโครงการเรียน ซึ่งประกอบไปด้วยวิชาการต่างๆ
พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดประสบการณ์ การเรียนการสอนของแต่ละรายวิชานั้นด้วย
การประเมินผลหลักสูตรจะต้องประเมินทั้งหมด หรือทุกส่วนที่กล่าวมา
สำหรับความหมายของการประเมินผลหลักสูตร
คือ
สตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) และคณะ กล่าวว่า
การประเมินผลหลักสูตร คือ กระบวนการในการหาข้อมูล
เก็บข้อมูล เพื่อที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจทางเลือกที่ดีกว่าของเดิม (ทัศนา แขมมณี , 2520,
หน้า 278)
ครอนบาค (Cronbach) กล่าวว่า การประเมินผลหลักสูตร หมายถึง การรวบรวมข้อมูล
และการทำข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในเรื่องของโปรแกรมหลักสูตรการศึกษา (ทัศนา แขมมณี,
2520, หน้า 278)
อรสา ปราชญ์นคร
(2523) กล่าวว่า การประเมินหลักสูตร คือ การหาคำตอบว่าหลักสูตรสัมฤทธิผลตามที่กำหนดไว้ในความมุ่งหมายหรือไม่ และอะไรเป็นสาเหตุ การประเมินผลหลักสูตรเป็นงานละเอียดต้องการผู้ที่มีความรู้ทั้งในเรื่องของหลักสูตรและการประเมินผล
การประเมินผลหลักสูตร เป็นการพิจารณาคุณค่าของหลักสูตร โดยอาศัยการรวบรวมข้อมูล และใช้ข้อมูลจากการวัดในแง่ต่างๆ ของสิ่งที่ประเมิน เพื่อนำมาพิจารณาร่วมกัน และสรุปว่าหลักสูตรที่สร้างขึ้นมานั้นมีคุณค่าเป็นอย่างไร มีคุณภาพดีหรือไม่เพียงใด หรือได้รับผลตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้หรือมีส่วนใดที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป และนำเสนอผู้บริหาร ผู้มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการดำเนินต่อไป หรือ การประเมินผลหลักสูตร หมายถึง กระบวนการในการศึกษาส่วนประกอบต่างๆ ของหลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร จุดมุ่งหมาย โครงสร้าง จุดประสงค์การเรียนรู้ เนื้อหา กิจกรรม สื่อการเรียนการสอน วิธีสอนและการวัดผลจะสัมพันธ์กันหรือไม่
การประเมินผลหลักสูตรเป็นงานใหญ่และมีขอบเขตกว้างขวาง ผู้ประเมินจำเป็นต้องวางโครงการไว้ล่วงหน้าว่ามีกระบวนการอย่างไร มีวิธีการอย่างไร ดังนั้นโครงการประเมินผลหลักสูตรจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ และเมื่อนำไปใช้ประเมินผลแล้ว ควรมีการประเมินผลโดยการประเมินผลของหลักสูตรนั้นๆ
ด้วยว่า มีความสมบูรณ์รอบคอบเพียงใด
ระบบการประเมินผลหลักสูตร
ระบบการประเมินหลักสูตร คือ
ขั้นสุดท้ายของการพัฒนาหลักสูตร การประเมินหลักสูตร
คือ
กระบวนการเปรียบเทียบระหว่างผลการใช้หลักสูตรที่วัดได้กับวัตถุประสงค์ของหลักสูตรว่าการปฏิบัติจริงนั้น ผลได้ใกล้เคียงกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่
จุดประสงค์ของการประเมินผลหลักสูตร
1. เพื่อดูว่าหลักสูตร เมื่อนำไปปฏิบัติจริงได้ผลเพียงใด บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่
2. เพื่อหาทางปรับปรุงหลักสูตร ถ้าพบสิ่งบกพร่อง
3. เพื่อหาข้อดีข้อเสียในวิธีการจัดประสบการณ์การเรียน
4. เพื่อช่วยการตัดสินใจของฝ่ายบริหารว่าควรจะใช้หลักสูตรต่อไปหรือไม่
การประเมินผลหลักสูตร อาจแบ่งเป็นระบบการประเมินย่อยได้ ดังนี้ คือ การประเมิน
เอกสารหลักสูตร การประเมินระบบหลักสูตร การประเมินระบบการบริหารหลักสูตร
การประเมินผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน
การประเมินการสอนของผู้สอนและการประเมินการติดตามผลผู้สำเร็จการศึกษา
(มาเรียม นิลพันธุ์, 2543)
1. การประเมินเอกสารหลักสูตร คือ
การตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างหลักการ โครงสร้าง วัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระ การจัดประสบการณ์การเรียนและการประเมินผลว่ามี
มากน้อยเพียงใด ภาษาที่ใช้สามารถสื่อสารได้ตรงกันหรือไม่ ข้อกำหนดใช้หลักสูตรมีความชัดเจนไม่เกิดปัญหาในการปฏิบัติใช่หรือไม่
2. การประเมินระบบหลักสูตร คือ
การตรวจสอบดูว่า หลักสูตรได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่
วัตถุประสงค์ของหลักสูตรมีความเที่ยงตรงหรือไม่ หลักสูตรที่วางไว้เหมาะสมกับผู้เรียนหรือไม่ วิธีการสอนเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ เนื้อหาวิชาที่จัดไว้เหมาะสมหรือไม่ อุปกรณ์การสอนหรือเอกสารประกอบการสอนเหมาะสมหรือไม่
3. การประเมินระบบการบริหารหลักสูตร คือ การประเมินระบบการบริหารที่จะมีอิทธิพลและส่งผลต่อการใช้หลักสูตร ปัจจัยการบริหารที่ควรพิจารณาประเมิน คือ โครงสร้างและระบบของสถาบัน อาคารสถานที่ บรรยากาศทางสังคม สถาบัน การติดต่อสื่อสาร ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถาบัน เวลา คุณสมบัติของผู้สอนและผู้เรียน รวมทั้งงบประมาณที่ใช้
4. การประเมินผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน คือ การประเมินคุณภาพและปริมาณความรู้
ทักษะและเจตคติของผู้เรียนตามเกณฑ์ และมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
5. การประเมินการสอนของผู้สอน คือ การศึกษาเกี่ยวกับวิธีการสอนว่าบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในแผนการสอนหรือไม่ องค์ประกอบที่ควรศึกษา ได้แก่ แผนการสอน จุดประสงค์ เนื้อหาวิชา สื่อการเรียน การประเมินผล รวมทั้งบุคลิกภาพ ความรู้ ความสามารถ ความสัมพันธ์กับผู้เรียน และการสร้างบรรยากาศในการเรียน
6. การประเมินการติดตามผลผู้สำเร็จการศึกษา การศึกษาสถานภาพของผู้สำเร็จการศึกษาในด้านต่างๆ เช่น ความรู้ ความสามารถ เจตคติต่อวิชาชีพ ความสามารถปฏิบัติงานได้จริงตามสภาพงานที่ปรากฏในปัจจุบัน ความสามารถในการแก้ปัญหา และการปรับตัว สิ่งที่ประสบความสำเร็จและความล้มเหลวในการประกอบอาชีพ มีความสนใจที่จะศึกษาต่อและมีความคาดหวังที่จะแสวงหาความก้าวหน้าในวิชาชีพอย่างไร
ในการประเมินหลักสูตร
ถ้ามีการวางแผนการประเมินไว้ตั้งแต่แรกเริ่มร่างหลักสูตร จะเป็นข้อบ่งชี้ให้ทราบถึงประสิทธิภาพของหลักสูตรที่จัดได้ว่า มีส่วนใดดีที่ควรคงไว้ ส่วนใดไม่เหมาะสมและควรพิจารณาปรับปรุง หรืออาจยกเลิกไป ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการพัฒนา
ปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันสอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ความเป็นมาและแนวคิดของการประเมินผลหลักสูตร
เรื่องการประเมินผลหลักสูตรได้รับความสนใจในวงการศึกษามาตั้งแต่ปี
ค.ศ.1960 เป็น
ต้นมา ราล์ฟ ไทเลอร์ (Ralph Tyler) ได้เป็นผู้วางรากฐานให้นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 โดยไทเลอร์(Tyler )
ได้เป็นผู้ริเริ่มให้คำนิยามการศึกษาว่า “การศึกษาคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” (อรสา ปราชญ์นคร, 2523, หน้า 134 ) ดังนั้น
การประเมินผลหลักสูตรจึงมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงเป็นจุดสำคัญ ซึ่งหมายความว่า จะมีการวัดผลโดยเอาจุดมุ่งหมายเป็นที่ตั้ง และหาดูว่าได้มีพฤติกรรมอะไรเปลี่ยนแปลงไปตามจุดมุ่งหมายที่ได้ตั้งไว้หรือไม่ ตามแนวคิดนี้ภาพพจน์ของการจัดหลักสูตรก็คือ ผู้จัดทำหลักสูตรจะต้องมีการจัดวางจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้เรียนเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นอย่างไร จะจัดประสบการณ์การสอนที่สามารถจะให้ผู้เรียนเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามที่ต้องการ บทบาทของการประเมินผลหลักสูตรที่จะช่วยชี้ให้เห็นจริงว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามจุดมุ่งหมายจริงหรือไม่ อย่างไร
ต่อมา สตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) และคณะได้ให้แนวคิดใหม่เกี่ยวกับการประเมินหลักสูตรว่า “การประเมินผลหลักสูตรคือ กระบวนการในการหาข้อมูล
เก็บข้อมูล เพื่อที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการติดสินหาทางเลือกอื่นที่ดีกว่าของเดิม” (อรสา ปราชญ์นคร, 2523, หน้า 134 ) และในปี ค.ศ.1963 ครอนบาค (Cronbach) ได้เขียนคำนิยามของการประเมินผลหลักสูตรไว้ในวารสาร Teacher
College Record ว่า “การประเมินผลหลักสูตรหมายถึง การรวบรวมข้อมูล และการใช้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจในโปรแกรมหรือหลักสูตรการศึกษา” จะเห็นว่าแนวคิดของ สตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) และ
ครอนบาค (Cronbach) นี้ตรงกัน
ในวงการศึกษานับว่าเป็นแนวความคิดใหม่ในการประเมินหลักสูตรการศึกษาต่างๆ
ระยะการประเมินผลหลักสูตร
การประเมินผลหลักสูตร โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ประเมินผลหลักสูตรก่อนโครงการ คือ การประเมินผลหลักสูตรก่อนที่จะนำไปใช้ (Project Analysis) เป็นการประเมินผลหลักสูตร เมื่อสร้างเสร็จแล้วผู้สร้างประเมินดูว่าหรือไม่เพียงใด
มีข้อที่ควรแก้ไขปรับปรุงอะไรบ้าง อาจให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์หรือวิจัยดูก็ได้
ระยะที่ 2 ประเมินผลหลักสูตรในขณะที่ดำเนินการ ว่าหลักสูตรที่ทำขึ้นนั้นนำไปทดลองแล้วได้ผลเพียงใด เช่น
หลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 มีการทดลองใช้ตั้งแต่ปี 2519 และ 2520
เพื่อหาข้อบกพร่อง อุปสรรค จะได้แก้ไขให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป
ระยะที่ 3 ประเมินผลเมื่อจบโครงการ หรือประเมินผลเมื่อประกาศใช้หลักสูตรแล้ว เป็นการประเมินผลหลักสูตรที่ใช้อยู่เพื่อที่จะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป
ในการประเมินผลหลักสูตรนั้นมีข้อควรระวังอยู่ 2 ประการด้วยกันคือ
1. กฎข้อที่ 1 ถ้าผู้ถูกประเมินและผู้ประเมินมีปรัชญาเดียวกันหรือเป็นพวกเดียวกัน ผลการประเมินจะออกมาว่า “ดี” เป็นส่วนใหญ่
2. กฎข้อที่ 2 ถ้าผู้ถูกประเมินและผู้ประเมินมีปรัชญาต่างกัน หรือเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ผลการประเมินจะออกมาว่า “ไม่ดี” เป็นส่วนใหญ่ (โกวิท ประวาลพฤกษ์, 2523, หน้า 13)
ดังนั้น การประเมินผลหลักสูตรที่จะไม่ให้เกิดความลำเอียงดังกล่าว จะทำได้โดยประเมินโดยยึดที่จุดมุ่งหมาย เป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ของหลักสูตรเป็นประการสำคัญ
ขอบเขตของการประเมินผลหลักสูตร
ในความเข้าใจของครูผู้สอนส่วนมากคิดว่าการสอบ คือการประเมินผลหลักสูตร ถ้าเด็กสอบได้ดีมักคิดว่าหลักสูตรดี หรือในทางตรงกันข้าม ถ้าเด็กสอบตกมากมักคิดว่าหลักสูตรไม่ดี
ที่ถูกต้องแล้วการสอบเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการประเมินผลหลักสูตรเท่านั้น
แต่การประเมินผลเพื่อตัดสินสัมฤทธิผลของหลักสูตรนั้นกำหนดขอบเขตได้ดังนี้
1. ประเมินความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ (Goals
and Objectives)
เป็นการพิจารณาดูว่าเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและสังคมนั้นหรือไม่เพียงใด สามารถบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้ได้หรือไม่ ไม่ยาก หรือไม่ง่ายจนเกินไป
2. ประเมินโครงการทั้งหมดของโรงเรียน (Program of Schooling) เป็นการพิจารณาว่าโรงเรียนจัดโครงการเรียนการสอนใดบ้าง สอดคล้องกับหลักการและจุดมุ่งหมายหรือไม่ การจัดกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน ตลอดจนการวัดและการประเมินผลการเรียนของนักเรียน ตลอดจนการบริหารทางด้านหลักสูตร ตารางสอน ห้องสมุด เป็นต้น
3. ประเมินโครงการเฉพาะส่วน (Specific Segment of the
Education Program)
เป็นการพิจารณาโครงการทำงานแต่ละโครงการว่าได้รับผลลัพธ์เป็นที่ยอมรับหรือคัดค้าน
และในการที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายของการทำงานตามโครงการ
4. ประเมินการเรียนการสอน (Instuction)
เป็นการพิจารณาการเรียนการสอน ตลอดจนการนำสื่อการสอนใหม่ๆ
มาใช้ ผลสัมฤทธิ์และความสำเร็จในด้านการเรียน การนำความรู้ออกไปประกอบอาชีพได้
5. ประเมินโครงการการประเมินผล (Evaluation Program) เป็นการพิจารณาผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ผลการดำเนินตามโครงการ ประสบการณ์
การตอบสนองจากชุมชนและสังคมของแรงต้านทานและผลกระทบที่มีต่อสังคม
6. ประเมินโครงการผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน รวมถึงการสอบด้วย ผลการสอบของนักเรียนเป็นอย่างไร
จะดีหรือเลวนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การสอนของครู
ความบกพร่องทางร่างกายของผู้เรียน กรณีทางบ้าน ความยากง่ายของแบบเรียน เป็นต้น
7. ประเมินโครงการของผู้เรียนที่จบออกไปว่าหางานทำได้หรือไม่
ทำแล้วเกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมมากน้อยเพียงใด สังคมยอมรับในผลผลิตที่ออกไปจากสถาบันนั้นหรือไม่
ขั้นตอนของการประเมินผลหลักสูตร
เซเลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor and Alexander)
ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Planning Curriculum for
Modern School ว่า
การประเมินผลหลักสูตรเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องอาศัยเทคนิคต่างๆ
มาประกอบการประเมินผลหลักสูตร ขั้นตอนการประเมินผลหลักสูตรมี 5 ประการ คือ
1. ประเมินผลจุดมุ่งหมายในระดับต่างๆ
ได้แก่ จุดมุ่งหมายทั่วไปของหลักสูตร จุดมุ่งหมายเฉพาะวิชา จุดมุ่งหมายในการสอน เพื่อดูว่าจุดมุ่งหมายเหล่านี้เหมาะสมสอดคล้องกับตัวผู้เรียนและสภาพสิ่งแวดล้อมหรือไม่เพียงใด ภาษาที่ใช้ยุ่งยากแก่การสื่อสาร และการกำหนดจุดมุ่งหมายไว้สูงเกินไปยากแก่การปฏิบัติหรือไม่
2. ประเมินผลโครงการการศึกษาของโรงเรียนทั้งหมด ทั้งนี้เป็นการประเมินผลโครงการต่างๆ
ที่จะช่วยให้หลักสูตรบรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ เช่น การเตรียมความพร้อมของโรงเรียนเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรใหม่ การดำเนินงานของกลุ่มโรงเรียน การจัดสรรงบประมาณ การแนะแนว ห้องสมุด โรงฝึกงาน การดำเนินงานของโครงการต่างๆ
ได้กระทำไปมากน้อยแค่ไหน และโครงการที่ได้กระทำไปมีประสิทธิภาพหรือไม่
3. ประเมินผลการเลือกเนื้อหาสาระของวิชา การเลือกและการจัดประสบการณ์การเรียนและสื่อการเรียนว่าได้จัดและดำเนินไปเหมาะสมมากน้อยเพียงใด
และการจัดประสบการณ์การเรียนได้สัดส่วนกับครบทุกด้านและมีความเหมาะสมหรือไม่
4. ประเมินผลการสอน การประเมินผลขั้นนี้ ครูเป็นผู้ที่มีบทบาทมากในการนำหลักสูตรมาปรับใช้ในห้องเรียน การประเมินผลระดับนี้ ถ้าเพื่อดูว่าการสอนของครูดำเนินไปโดยยึดถือหลักสูตรเป็นหลักหรือไม่ การสอนได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนไปตามจุดหมายของหลักสูตรหรือไม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนก็คือ ความสำเร็จในการสอนของครูเพื่อดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายของหลักสูตร
5. ประเมินผลโครงการของหลักสูตร ถึงแม้ว่าการประเมินผลแต่ละโครงการได้วางแผนและขั้นตอนของการประเมินผลไว้อย่างดีแล้วก็ตาม แต่การดำเนินงานอาจมีข้อผิดพลาดได้ ซึ่งจะเป็นผลทำให้การประเมินผลเพื่อสรุปผลของหลักสูตรผิดพลาดไปได้ ฉะนั้นจึงต้องมีการประเมินผลโครงการเพื่อตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง
หลักในการประเมินผลหลักสูตร
1. ต้องปฏิบัติสืบเนื่องสม่ำเสมอตลอดเวลา
2. ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า จะประเมินอะไรให้แน่นอน
3. การหาข้อมูล
เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประเมินผลหลักสูตร
4. ควรพิจารณาข้อมูลที่จะนำมากำหนดเกณฑ์หรือกำหนดเครื่องมือในการประเมินผล
อย่างรอบคอบ
5. การวิเคราะห์ผลการประเมิน
ต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยให้มีความเที่ยงตรง
เพียงพอ เพื่อนำผลวิเคราะห์เสนอกรรมการพิจารณา
6. ควรพิจารณาผลการประเมินผลหลักสูตรนี้ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรให้
เหมาะสมต่อไป
แนวทางการประเมินผลมีอะไรบ้าง
แนวทางของการประเมินผล มีประเด็นที่น่าศึกษาอยู่ 10 ประเด็นด้วยกัน และเราจะต้องใช้วิธีการประเมินต่างๆ กันไปแต่ละประเด็น ประเด็นทั้ง 10 ที่ต้องศึกษา คือ
1. จุดหมาย หลักการ ของหลักสูตร คือดูว่าหลักการที่บัญญัติไว้เวลานำไปสู่ภาคปฏิบัติเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เช่น หลักการเกี่ยวกับการถ่ายโอนผลการเรียน หลักการ
ให้เด็กเลือกเรียนวิชาเลือกตามอัธยาศัย หลักการจัดโครงการเรียนให้มีวิชาเลือกหลายวิชสิ่งเหล่านี้ต้องนำจุดหมายและหลักการมาเป็นแม่บท และดูว่าโรงเรียนทำอะไรบ้าง ทำได้ตามนี้หรือไม่
2. โครงสร้างของหลักสูตร คือดูว่าโครงสร้างของหลักสูตรที่กำหนดไปนั้นเมื่อแตกออกไปเป็นโครงการเรียนในการปฏิบัตินั้นสอดคล้องกันดีหรือไม่การจัดโครงการเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ต้องประเมินให้ถี่ถ้วนว่าโรงเรียนมีวิธีการอย่างไร จัดด้วยเหตุผลอะไร จัดได้สอดคล้องกับความคาดหวังของหลักสูตรหรือไม่ กุญแจที่สำคัญของการประเมินผลหลักสูตรอยู่ที่ว่า โรงเรียนจัดอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร ทำไมจึงจัดได้ ทำไมจึงจัดไม่ได้ มีปัจจัยอะไรส่งผลให้เป็นเช่นนี้
3. สาระสำคัญ และเนื้อหาตามหลักสูตรที่ถ่ายทอดรายละเอียดเป็นสื่อการเรียน รายวิชาต่างๆ ที่กำหนดไปแล้วนั้นเหมาะกับวัยของเด็กเพียงไร ครูมีพื้นฐานความรู้ที่จะสอนได้ตามนั้นหรือไม่ หลายวิชาหลักสูตรอาจเขียนไว้ค่อนข้างหรู แต่หาคนสอนไม่ได้ มันก็หยุดนิ่งอยู่อย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใคร แต่เป็นความไม่พร้อมหลายๆ อย่างด้วยกัน เช่น ระบบการผลิตครู
เนื้อหาสาระของหลักสูตรที่กำหนดเป็นรายวิชาต่างๆ ผู้ประเมินผลจะต้องใช้เวลามาก
และต้องการความสัดทัดเฉพาะบุคคล
4. วิธีสอนวิธีเรียน เรื่องนี้แม้จะเป็นหน้าที่โดยตรงของระบบโรงเรียน ศึกษานิเทศก์
และกรมเจ้าสังกัด แต่ก็สัมพันธ์กับหลักสูตรในแง่ที่ว่า หลักสูตรใหม่แต่สอนวิธีเก่าก็ไม่มีความหมายอะไร ตัวอย่างเช่น วิชาวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องที่คนเข้าถึงเหตุเข้าถึงผล ไม่ให้เชื่ออะไรที่เลือนราง การที่จะเข้าถึงสิ่งนั้นได้ต้องจับต้อง ต้องพิสูจน์กันอย่างจริงจัง
แต่ปรากฏว่าโรงเรียนหลายแห่งบอกว่ายากยังไม่พร้อม หรือสู้การสอนแบบท่องจำไม่ได้ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วทัศนคติทางวิทยาศาสตร์จะไม่เกิดขึ้น
5. ระบบงานวิชาการของโรงเรียน
ต้องดูว่าการวางโปรแกรมให้นักเรียนนั้นใครเป็นผู้วางรวมถึงการบันทึกวิชาการต่างๆ
ลงไปในระเบียนของเด็ก รายวิชาที่จัดนั้นผสมผสานกันดีไหม
หรือไม่ประสานกันเลย ระบบงานวิชาการเป็นหัวใจสำคัญที่จะส่งผลให้คณะครูที่สอนตามสายต่างๆ
ทำงานประสานกันดี
6. ครูอาจารย์ที่สอนตามหลักสูตรใหม่ได้หรือไม่ วิชาดนตรียังขาดครูสอน วิชาชีพก็เช่นเดียวกัน จึงไม่สามารถเปิดสอนได้
7. สื่อการเรียน หนังสือเรียน คู่มือ หนังสืออ่านประกอบ หนังสืออ้างอิงมีหรือไม่ มีแล้วแต่ยังผิดพลาดหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องสำรวจและพิจารณา
8. การวัดผลทั้งหมดรวมทั้งการจัดระบบวัดผล ต้องพิจารณาในเรื่องวัดผลนั้นว่าโรงเรียนทำถูกหรือผิดประการใด โดยเอาระเบียบเป็นตัวยืนยันว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่
เมื่อระเบียบไม่เหมาะสมควรเอามาแก้ไขเปลี่ยนแปลง
9. การจัดกิจกรรมในโรงเรียน กิจกรรมเป็นส่วนสำคัญของระบบหลักสูตรเหมือนกัน
ซึ่งไม่ได้กำหนดเป็นเนื้อหาวิชา แต่มีระเบียบกิจกรรม เช่น จะต้องเรียนลูกเสือ โรงเรียนได้ทำกิจกรรมเหล่านี้เหมาะสมและสอดคล้องกับความจำเป็นหรือไม่ โรงเรียนจัดแนะแนวในลักษณะใด สอดคล้องกับความจำเป็นหรือไม่
10. แหล่งวิทยาการ สถานประกอบการ โรงเรียนเข้าใจเรื่องนี้จริงหรือไม่ เห็นทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้ทางกระทรวงได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบแล้วได้เผยแพร่ให้โรงเรียนเข้าใจสาระสำคัญหรือไม่
ข้อพึงระลึกในการประเมินผลหลักสูตร
1. การประเมินผลหลักสูตรจะต้องกำหนดลงไปอย่างชัดเจนว่าจะประเมินอะไรให้
แน่นอน
2. การหาข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการประเมินผลหลักสูตร
3. การรวบรวมข้อมูลมาเพื่อกำหนดเกณฑ์และกำหนดเครื่องมือในการประเมินจะต้อง
พิจารณาอย่างรอบคอบ
4. การวิเคราะห์ผลการประเมินจะต้องกระทำอย่างระมัดระวังและมีความเที่ยงตรง เพื่อที่จะนำผลการวิเคราะห์นั้นไปเสนอคณะกรรมการพิจารณา
5. พิจารณาจากการประเมินผลหลักสูตร เพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้เหมาะสมต่อไป
ประโยชน์ของการประเมินผลหลักสูตร
1. ช่วยให้ความมุ่งหมายของหลักสูตรและจุดมุ่งหมายในการสอนกระจ่างขึ้น เพราะถ้าคลุมเครือก็วัดไม่ได้ ต้องตีความหมายให้กระจ่างเสียก่อนจึงประเมินได้
2. ช่วยส่งเสริมการสอนในโรงเรียนให้ดีขึ้น ข้อมูลที่ได้จากการประเมินผลจะมีลักษณะเป็นผลสะท้อนไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรและการสอน
3. ส่งเสริมการเรียนของนักเรียน เมื่อความมุ่งหมายกระจ่างแล้ว นักเรียนก็สามารถรู้ได้อย่างแน่ชัดว่าตนเองประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เป็นการให้แรงจูงใจแก่นักเรียน
4. ช่วยในการแนะแนวของครู ข้อมูลต่างๆ ที่ครูรวบรวมได้เกี่ยวกับนักเรียนจะเป็นประโยชน์ต่อการแนะแนวไปในตัวด้วย
5. ช่วยในด้านการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองเกี่ยวกับการเรียนของนักเรียน
เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ของโรงเรียนและชุมชนไปในตัวด้วย ประโยชน์ข้อนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเทคนิคในการรายงานผลการเรียนของนักเรียนไปสู่ผู้ปกครอง
ระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันช่วยให้เกิดประโยชน์ข้อนี้น้อยมาก
บทสรุป
การประเมินผลหลักสูตร เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่ง เพราะจะได้รู้ถึงคุณค่าของหลักสูตร ตัดสินว่าคุณภาพของหลักสูตรมีคุณภาพดีเพียงใด ผลิตผลของหลักสูตร คือ ผู้เรียนเมื่อจบออกไปแล้วเป็นอย่างไร การประเมินผลหลักสูตรนั้น ประเมินตั้งแต่ก่อนนำหลักสูตรไปใช้ ขณะที่ทดลองใช้ และเมื่อประกาศใช้แล้ว
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลจะทำให้การประเมินผลหลักสูตร เป็นระบบ ระเบียบ
และเป็นแนวทางวิทยาศาสตร์ ประเมินได้ตามจุดที่ต้องการ และการประเมินผลหลักสูตรควรจะประเมินผลทั้งหมดของหลักสูตร เช่น
จุดมุ่งหมาย เนื้อหา การเรียน การสอน สื่อการเรียนการสอน กิจกรรม การวัดผล เป็นต้น การประเมินผลจะส่งผลไปยังผู้มีอำนาจในการตัดสินว่า หลักสูตรนั้นสมควรที่จะแก้ไขปรับปรุงเพียงใด มีปัญหาอะไรบ้างในการใช้หลักสูตรนั้น จะได้ช่วยเหลือ
ส่งเสริมให้หลักสูตรนั้นเป็นหลักสูตรที่ดี และสนองความต้องการต่างๆ ของผู้เรียน สังคม เศรษฐกิจ การปกครอง จิตวิทยาการเรียนรู้
การประเมินผลหลักสูตรควรจะดำเนินการและกระทำอยู่สม่ำเสมอ เพื่อการปรับปรุง พัฒนา หลักสูตร ให้มีคุณภาพดีที่สุด
เอกสารอ้างอิง
โกวิท ประวาลพฤกษ์. (2523,ธันวาคม). การประเมินผลโครงการ . วารสารทางวิชาการศึกษา,
10(4), 13
ทิศนา แขมมณี. (2519,กันยายน). การประเมินผลหลักสูตร. วิทยาสาร, 27(32), 14-18
ทิศนา แขมมณี. (2520). การประเมินผลหลักสูตร หลักสูตรประถมศึกษา 2521 ทฤษฎีและแนว
ปฏิบัติ . กรุงเทพฯ:สารมวลชน.
มาเรียม นิลพันธุ์. (2543). การสังเคราะห์งานวิจัยทางด้านหลักสูตร. รายงานการวิจัย. ค้นเมื่อ 20
ตุลาคม 2553, เว็บไซด์:http://www.pirun.kv.ac.th/~psdllv/paper/dev_curri.doc/
วิชัย วงษ์ใหญ่.
(2523). พัฒนาหลักสูตรและการสอน. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม.
สงบ ลักษณะ. (2524,ตุลาคม). สิ่งที่ท้าทายของการวิจัยประเมินผล. สารพัฒนาหลักสูตร, อันดับ1.
สุมิตร คุณานุกร. (2518). หลักสูตรและการสอน. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ชวนพิมพ์.
เสนีย์ พิทักษ์อรรณพ. (2524). การประเมินผลโครงการ. สารพัฒนาหลักสูตร.
อรสา ปราชญ์นคร. (2523). หลักสูตรและแบบเรียนมัธยมศึกษา.
เอกวิทย์ ณ ถลาง. (2521). ข้อคิดเรื่องหลักสูตร คู่มือนิเทศการสอน. วิทยาลัยครูสวนสุนันทา.
การประเมินผลหลักสูตร : แนวคิด ทฤษฎี และรูปแบบ (ต่อ)
การประเมินหลักสูตร มี 3 ระยะ ดังนี้
1. การประเมินหลลักสูตรก่อนนำหลักสูตรไปใช้
เพื่อทบทวนว่าหลักสูตรตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นของผู้เรียนกลุ่มเป้าหมายหรือไม่
เพื่อให้ได้หลักสูตรที่มีคุณค่า แล้วจึงพิจารณาความพร้อมในการนำหลักสูตรไปใช้
จากเอกสาร สื่อและอุปกรณ์ โดนมีขั้นตอนดังนี้
1) กำหนดจุดมุ่งหมายการประเมินหลักสูตร
2) วางแผนดำเนินการประเมิน
3) ทดลองใช้หลักสูตรฉบับร่าง
4) ประเมินผลจากการทดลองใช้
และนำผลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงหลักสูตรก่อนนำไปใช้จริง
2. การประเมินหลักสูตรระหว่างดำเนินการใช้หลักสูตร
ให้ความสำคัญกับ ระบบบริหารจัดการหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอน
โดยศึกษาข้อมูลจากการวางแผนการประเมินก่อนการใช้หลักสูตร
เพื่อจัดระบบบริหารจัดการหลักสูตร รวมถึงนิเทศกำกับติดตาม
และประเมินผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร วิชัย วงศ์ใหญ่ เสนอแนวคิดการประเมินไว้ ดังนี้
1) การประเมินระบบบริหารและการจัดการหลักสูตร
2) การประเมินการจัดกระบวนการเรียนการสอน
3) การประเมินระบบบริหารและวิธีการนิเทศกำกับดูแล
3. การประเมินหลักสูตรหลังนำหลักสูตรไปใช้
เป็นการประเมินระบบหลักสูตรในลักษณะที่มีความสมบูรณ์และสลับซับซ้อน
โดยจะประเมินทุกๆองค์ประกอบของหลักสูตรอย่างละเอียด
ทั้งนี้เพื่อประเมินว่าหลักสูตรดีจริง สามารถนำไปใช้ได้จริง
มีข้อผิดพลาดและต้องแก้ไข ถือเป็นการประเมินที่ครอบคลุมและสมบูรณ์มากที่สุด
แบบจำลองในการประเมินหลักสูตร
แบบจำลองการประเมินแบบ CIPP
สตัฟเฟิลบีม (Daniel L. Stufflebeam, 1985) ได้เสนอแนวทางการประเมินโครงการ
เพื่อการตัดสินใจดำเนินการ หรือยุติโครงการ โดยแบ่งออกเป็นประเด็น ดังต่อไปนี้
1) การประเมินสภาพแวดล้อม (Context Evaluation: C)
พิจารณา หลักการและเหตุผล ความจำเป็นที่ต้องดำเนินโครงการ
การกำหนดประเด็นปัญญา และความเหมาะสมของเป้าหมายโครงการ
2) การประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation: I)
พิจารณาการเลือกแผนงาน โครงการ โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของโครงการ
ความเหมาะสมและความพอเพียงของทรัพยากร
3) การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation: P)
พิจารณาข้อดีและข้อด้อย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแก้ไขและปรับปรุง
เป็นการตรวจสอบกิจกรรม โครงการ ทรัพยากรที่ใช้ ภาวะผู้นำ การมีส่วนร่วมของโครงการ
โดยมีการบันทึกเป็นหลักฐานในทุกขั้นตอน
4) กาประเมินผลผลิต (Product Evaluation: P)
พิจารณาเปรียบเทียบผลผลิตที่เกิดขึ้นจากโครงการ
ทั้งผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือมาตรฐานที่กำหนดไว้
รวมไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
การประเมินการเรียนรู้
เป็นการวัดและประเมินผลการเรียน หรือประเมินการปฏิบัติ มุ่งไปที่การประเมินศักยภาพและบุคลิกภาพของผู้เรียนอันเป็นผลจากการใช้หลักสูตรโดยจะให้ข้อมูลสะท้อนกลับที่สำคัญต่อการพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียนและพัฒนาตัวผู้เรียนเองได้
การกำหนดเกณฑ์การประเมินการเรียนรู้โดยใช้ The SOLO
Taxonomy
เสนอโดย Biggs และ Collis โครงสร้างการสังเกตผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
โดยใช้ The SOLO Taxonomy เป็นการจัดระดับเพื่อประโยชน์ในการแสดงคุณสมบัติเฉพาะในระดับต่างๆของคำถามและคำตอบที่คาดว่าจะได้รับจากผู้เรียน
ซึ่งจะไม่เน้นที่ผลงานเท่านั้น แต่ยังเน้นที่วิธีการเรียนรู้ด้วย
โครงสร้างการสังเกตผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดย Biggs และ Collis ได้เสนอวิธีการดังนี้
1) กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนปฏิบัติในบทเรียน
2) ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน
เมื่อเขียนวัตถุประสงค์การเรียนรู้ต้องมั่นใจว่าคำกริยาที่นำมาใช้เหมาะสมกับแต่ละระดับ
· ระดับโครงสร้างพื้นฐาน (Pre-structural) ไม่มีการจัดระเบียบข้อมูล ความหมายโดยรวมของข้อมูลยังไม่ปรากฎ
· ระดับโครงสร้างเดี่ยว (Uni-structural) เชื่อมโยงข้อมูลพื้นฐาน แต่ไม่แสเดงความหมายเกี่ยวโยงของข้อมูล
· ระดับโครงสร้างหลากลหาย (Multi-structural) มีการเชื่อมโยงข้อมูล
แต่ความหมายของความสัมพนัธ์ระหว่างความเกี่ยวโยงข้อมูลไม่ปรากฎ
· ระดับความสัมพันธ์ของโครงสร้าง (Relational
level) ผู้เรียนแสดงความสัมพันธ์ของความเกี่ยวโยงของข้อมูลและภาพรวมได้
· ระดับแสดงความต่อเนื่องในโครงสร้างภาคขยาย (Extended
Abstract Level) ผู้เรียนเชื่อมโยงข้อมูลนอกเหนือจากข้อมูลที่ได้รับ
สามารถสรุปและส่งผ่านความสำคัญและแนวคิดที่ซ่อนอยู่ภายใต้กรณีตัวอย่างได้
การกำหนดระดับคุณภาพของสมรรถนะตามแนวคิด SOLO Taxonomy เป็นการเรียนรู้อย่างลุ่มลึก
ไม่ใช่เรียนแบบผิวเผิน
SOLO 0: ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ไม่สำเร็จ พลาด ล้มเหลวSOLO
1: ระบุ บอกชื่อ ปฏิบัติตามขั้นตอนง่าย ๆ
SOLO 2: รวมกัน อธิบาย บรรยาย ยกตัวอย่าง เชื่อมโยง
SOLO 3: วิเคราะห์ ประยุกต์ อธิบายเหตุผล แสดงความสัมพันธ์
SOLO 4: สร้างสรรค์ สรุปอ้างอิง ตั้งสมมติฐาน สะท้อนทฤษฎี
โดย SOLO1 และ 2 สอดคล้องกับแนวคิดของบลูมในขั้นความรู้
ความเข้าใจ และนำไปใช้ (เชิงปริมาณ) และ SOLO3 และ 4 สอดคล้องกับแนวคิดของบลูมในขั้นวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่า
(เชิงคุณภาพ)