รูปแบบของการประเมินหลักสูตรของสตัฟเฟิลบีม
(Stufflebeam)
แดเนียลแอลสตัฟเฟิลบีม (Daniel
L. Stufflebeam) ได้อธิบายความหมายของการประเมินผลทางการศึกษาเอาไว้ว่าเป็นกระบวนการการบรรยายการหาข้อมูล
และการให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจหาทางเลือก ฉะนั้นรูปแบบการประเมินผลหลักสูตรตามแนวคิดขอลสตัฟเฟิลบีมจึงเป็นรูปแบบเหมาะสมแก่การช่วยตัดสินใจเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุด
ตามปกติสถานการณ์ในการตัดสินใจ (Decision
Settingt) โดยทั่วไปจะประกอบด้วยมิติที่สำคัญ 2 ประการ
คือ
1. มิติด้านข้อมูลที่มีอยู่ (Information Grasp)
คือถ้าเราจะตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง
เราจำเป็นต้องคำนึงว่าเรามีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นอยู่มากน้อยเพียงใด
2.
มิติด้านปริมาณความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการให้เกิดขึ้น (Degree
of Cange) คือความหมายว่าถ้าเราจะตัดสินใจทำอะไรสักอย่างหนึ่ง
เราต้องคำนึงว่าเมื่อทำไปแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากน้อยสักแค่ไหน
จากรูปแบบการประเมินผลหลักสูตรตามแนวคิดของสตัฟเฟิลบีมแสดงให้เห็นว่า
1.
สถานการณ์ตัดสินใจที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
แต่ทว่าข้อมูลที่จะช่วยให้การตัดสินใจนั้นมีอยู่มากสถานการณ์การตัดสินใจอย่างนี้เรียกว่า
Homeostatic
2.
สถานการณ์ตัดสินใจที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยและข้อมูลที่จะช่วยในการตัดสินใจก็มีอยู่น้อย
สถานการณ์การตัดสินใจอย่างนี้เรียกว่า Incremental
3.
สถานการณ์ตัดสินใจที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
แต่ว่าข้อมูลที่จะช่วยในการตัดสินใจมีอยู่น้อย
สถานการณ์การตัดสินใจอย่างนี้เรียกว่า Neomobilistic
4.
สถานการณ์ตัดสินใจที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจก็มีอยู่มาก
สถานการณ์การตัดสินใจอย่างนี้เรียกว่า Metamorphism
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า
การตัดสินใจนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบใดก็ตามก็จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเชิงประมาณ (Evaluation Data) มาช่วยเป็นพื้นฐาน เพราะการตัดสินใจใดๆ
ของผู้บริหารที่ไม่ใช่ข้อมูลเชิงประมาณมาเป็นพื้นฐานในการหาทางเลือกย่อมเสี่ยงต่อความล้มเหลวในการดำเนินงานตามทางเลือกนั้นอย่างมาก
ส่วนการตัดสินใจทางการตัดสินใจนั้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจะจัดเนื้อหาวิชาในหลักสูตรอย่างไรจะจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีไหน
จะใช้สื่อการเรียนการสอนอะไร จะจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรอะไร
ถ้าพิจารณาในแง่ของวิธีการกับผลที่เกิดขึ้นและสิ่งที่คาดหวังกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง เราอาจจำแนกการตัดสินใจออกได้เป็น 4 ประเภท
1. Planning Decisions เป็นการตัดสินใจโดยคาดหวังว่าเราต้องการให้เกิดผลทางการศึกษาอย่างไร
เช่นหลังจากที่นักเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ไปแล้วนักเรียนควรจะมีคุณสมบัติที่เด่นๆ อย่างไรบ้าง
ฉะนั้นการตัดสินใจชนิดนี้จึงนำมาเป็นประโยชน์ในการกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตรหรือในการวางแผนจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี
จึงเรียกการตัดสินใจอย่างนี้ว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับการวางแผน
2. Structuring
Decisions เป็นการตัดสินใจโดยคาดหวังว่าถ้าต้องการให้เกิดผลทางการศึกษาตามที่คาดหวังไว้ในข้อ
1 นั้นเราควรจะวางโครงสร้างหรือวางรูปแบบของการใช้หลักสูตรที่พึ่งประสงค์เอาไว้อย่างไรเช่น
ถ้าจะให้นักเรียนมีคุณสมบัติตรงตามที่คาดหวังเอาไว้นั้น
โรงเรียนควรจัดสภาพแวดล้อมอย่างไรการบริหารงานควรเป็นแบบใด
ครูควรจัดการเรียนการสอนอย่างไร ควรให้มีกิจกรรมเสริมหลักสูตรอะไรบ้าง ฯลฯ
จึงเรียกการตัดสินใจแบบนี้ว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงสร้าง
3. Implemening
Decisions เป็นการตัดสินใจว่า
ตามความเป็นจริงนั้นได้มีการนำหลักสูตรไปใช้ตามแนวทางที่คาดหวังเอาไว้หรือไม่
มีการควบคุมหรือแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้วิธีการที่เกิดขึ้นจริงๆ
เป็นไปตามที่ต้องการมากน้อยเพียงใด
จึงเรียกการตัดสินใจแบบนี้ว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับการนำไปใช้
4. Recycling Decisions
เป็นการตัดสินใจหลังจากศึกษาตามหลักสูตรไปแล้วนั้นจริงๆ
แล้วนักเรียนมีคุณสมบัติอย่างไร มีความรู้ มีทักษะ มีเจตคติ
เป็นอย่างไรและเป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้หรือไม่ มีอะไรบ้างที่ต้องรักษาไว้
มีอะไรบ้างที่ต้องละทิ้งหรือต้องปรับขยายเสียใหม่
จึงเรียกการตัดสินใจแบบนี้ว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับคุณสมบัติที่พึ่งประสงค์
ทั้งหมดที่กล่าวมา 4 ข้อนี้
คือประเภทการตัดสินใจทางการศึกษา แต่ตามความคิดของ สตัฟเฟิลบีมนั้น การตัดสินใจทุกๆ เรื่องจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเชิงประเมินในการพิจารณาขั้นพื้นฐาน และสตัฟเฟิลบีมได้ให้แนวคิดไว้ว่า
การประเมินผลหลักสูตรนั้นมีสิ่งสำคัญที่เราต้องประเมินอยู่ 4
ด้าน คือ
1. การประเมินสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) เป็นการประเมินที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้หลักการและเหตุผลมากำหนดจุดมุ่งหมาย
การประเมินสภาพแวดล้อมจะช่วยให้ผู้พัฒนาหลักสูตรรู้ว่า
สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษามีอะไรบ้าง
สภาพการณ์ที่คาดหวังและสภาพที่แท้จริงในสภาพแวดล้อมดังกล่าวเป็นอย่างไร มีความต้องการ
หรือปัญหาอะไรบ้างที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองหรือแก้ไข
มีโอกาสและสรรพกำลังที่จำเป็นอะไรบ้างที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการจัดการศึกษา และสืบเนื่อง
มาจากปัญหาอะไรบ้าง ฯลฯ ในการประเมินสภาพแวดล้อมนี้
ผู้ประเมินอาจใช้วิธีดังต่อไปนี้
1.1
การวิเคราะห์ความคิดรวบยอด (Conceptual Analysis)
1.2
การทำวิจัยด้วยการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์จริงๆ (Empirical
Studies)
1.3
การอาศัยทฤษฎีและความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
การประเมินสภาพแวดล้อมนี้จะช่วยให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจด้านการวางแผนหรือกำหนดจุดมุ่งหมาย
(Planning
Decision)
2. ประเมินตัวป้อน (Inputs
Evaluation) เป็นการประเมินที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้ข้อมูลมาช่วยตัดสินใจว่า
จะใช้ทรัพยากรหรือสรรพกำลังต่างๆ
ที่มีอยู่เพื่อให้บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรได้อย่างไร จะขอความช่วยเหลือด้านทรัพยากรและสรรพกำลังจากแหล่งภายนอกดีหรือไม่
จะใช้วิธีจัดการเรียนการสอนแบบใดดีจึงจะประเมินด้วยตัวป้อนอาจจะทำได้โดย
2.1
จัดทำในรูปแบบของคณะกรรมการ
2.2
อาศัยผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่มีผู้ทำเอาไว้แล้ว
2.3
ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาให้การปรึกษา
2.4
ทำการวิจัยเชิงทดลองเป็นการนำร่อง
อนึ่ง
ขอให้สังเกตว่าวิธีการประเมินนี้มีความแตกต่างกันออกไปมาก นับแต่ใช้วิธีง่ายๆ
โดยอาศัยความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
หรือของคณะกรรมการ
ไปจนถึงวิธีการที่ซับซ้อน เช่น การวิจัยเชิงทดลอง
ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่มากหรือน้อยนั้นเอง
ตัวอย่างเช่น ในการตัดสินใจแบบ Homeostatic
ที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
แต่ทว่าข้อมูลที่จะมาช่วยในการสนับสนุนนั้นมีอยู่มากแล้วในบางกรณีอาจไม่จำเป็นต้องประเมินผลในลักษณะที่ยุ่งยากซับซ้อนแต่ประการใด
อย่างไรก็ตามถ้าสถานการณ์การตัดสินใจแบบ Incremental หรือ Neomobilistic
ที่ต้องการนำนวัตกรรมบางอย่างมาใช้ในหลักสูตรประเมินผลเพื่อให้ได้ข้อมูลสนับสนุนจำเป็นต้องใช้วิธีการที่รอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อให้ได้ผลที่เที่ยงตรงและเชื่อถือได้นั่นเอง
ฉะนั้นการประเมินตัวป้อนนี้จะช่วยให้เราได้ข้อมูลในการตัดสินใจ ถ้าเราจะจัดการศึกษาตามหลักสูตร เราควรจะขอความร่วมมือและช่วยเหลือจากแหล่งภายนอกหรือไม่ควรจะหาวิธีใด วิธีการหนึ่งที่มีอยู่แล้วหรือวิธีการที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ การดำเนินงานในโรงเรียน เช่น
การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างครู
และนักเรียน ฯลฯ ควรเป็นอย่างไรจึงจะช่วยให้การนำหลักสูตรไปใช้ประสบความสำเร็จ
การประเมินตัวป้อนนี้จะช่วยให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจด้านโครงสร้างหรือการวางรูปแบบในการดำเนินงาน (Structuring
Decision)
3. การประเมินกระบวนการ (Process
Evaluation) เป็นการประเมินที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสืบค้นจุดอ่อนของรูปแบบการดำเนินตามที่คาดหวังเอาไว้
หรือจุดอ่อนของการดำเนินงานในขั้นทดลองการใช้หลักสูตร
เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกวิธีการต่อไป
ฉะนั้นต้องมีการจดบันทึกผลการประเมินกระบวนการนั้นจำเป็นต้องอาศัยวิธีการหลายๆ
อย่างต่างๆ กัน เช่น
3.1
การสังเกตแบบมีส่วนรวมปฏิบัติ
3.2 การวิเคราะห์ความสัมพันธ์
3.3 การสัมภาษณ์
3.4
การใช้แบบสอบถามประเภทมาตราส่วนประมาณค่า
3.5
การเขียนรายงานประเภทปลายเปิด
อย่างไรก็ตาม ในการประเมินกระบวนการนี้ บางครั้งจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการในการประเมินผลขึ้นมาโดยเฉพาะ
และให้คณะกรรมการชุดนี้มีเวลาการทำประเมินอย่างเต็มที่ เช่น
ถ้าเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาก็อาจจะได้แก่ทีมงานในหน่วยวิจัยของสถาบันนั้นเอง
แต่ถ้าเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาก็อาจจะได้แก่ศึกษานิเทศก์ของจังหวัดเพราะการตั้งครูในโรงเรียนทำหน้าที่ประเมินผลโดยเฉพาะทำได้ยากเนื่องจากมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง เช่น
เรื่องเวลาซึ่งมีความจำเป็นมากในกรณีที่สถานการณ์การตัดสินใจเป็นแบบ Incremental และ Neomobilistic เพราะมีข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจอยู่แล้วน้อยมาก
แต่ถ้าหากสถานการณ์การตัดสินใจแบบ Homeobilistic ซึ่งต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลที่จะนำมาใช้สนับสนุนอย่างมากแล้ว
ผู้บริหารและครูในโรงเรียนอาจช่วยกันทำการประเมินก็ได้
การประเมินกระบวนการนี้ให้ข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจด้านการนำหลักสูตรไปใช้ปฏิบัติจริงๆ
(Implementing
Decisions)
4. การประเมินผลผลิต (Products
Evaluation) มีจุดมุ่งหมายจะตรวจสอบว่า
ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนนั้นเป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้มากเพียงใด
อาจทำได้โดยการเปรียบเทียบกับเกณฑ์สัมพันธ์กับหลักสูตรอื่นที่มีอยู่ก็ได้
ในกระบวนการการศึกษานั้นการประเมินผลผลิตจะให้ข้อมูลที่จะนำมาช่วยตัดสินใจว่ามีกิจกรรมทางการศึกษาอะไรบ้างที่ควรทำต่อไป เลิกทำ
หรือควรนำมาปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่นอกจากนั้นยังให้ข้อมูลที่จะนำไปเชื่อมต่อหรือสานต่อเข้ากับขั้นตอนอื่นๆ
ของกระบวนการทางการศึกษาได้อีกด้วย
เช่น
โรงเรียนหนึ่งมีปัญหาครูไม่พอสอนหรือครูมีภารกิจมากจนไม่มีเวลาจะเตรียมการสอนให้ได้ผล
จึงได้คิดค้นนวัตกรรมทางการสอนแบบ RIT (Reduced
Insructional Time) ขึ้นมาใช้ เสร็จแล้วการทำประเมินผลผลิตของการเรียนแบบ RIT
ดู
พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนนั้นอยู่ในขั้นที่จะนำไปเผยแพร่ในโรงเรียนอื่นๆ
ที่ประสบปัญหาอย่างเดี่ยวกันได้
เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายไม่สิ้นเปลืองมากนัก
อย่างนี้ผู้บริหารการศึกษาก็อาจใช้ผลจากการประเมินดังกล่าวมาช่วยตัดสินใจประกาศให้โรงเรียนต่างๆ
นำนวัตกรรม RIT ไปใช้จัดการเรียนการสอนต่อไป
การประเมินผลผลิตนี้จะให้ข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจว่า จะเก็บรักษาไว้ เลิกใช้หรือปรับปรุงแก้ไขใหม่ (Recycling Decisions) เนื่องจากสตัฟเฟิลบีมให้แนวคิดว่าในการประเมินผลหลักสูตรนั้นมีสิ่งที่จะต้องประเมินอยู่ 4 อย่าง
คือ Context, Input,
Process และ Products รูปแบบการประเมินผลของเขาจึงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่าเป็น CIPP
Model
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น