หลักสูตรเกลียวสว่าน
ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอในระหว่างผู้จัดทำหลักสูตรด้วยกันเอง ได้แก่
ข้อสงสัยที่ว่าทำไมจึงต้องจัดหัวข้อเนื้อหาในเรื่องเดียวกันซ้ำๆ
กันอยู่เสมอในเกือบทุกระดับชั้น แม้จะได้มีผู้พยายามกระทำตามความคิดที่จะจัดสรรเนื้อหาในแต่ละเรื่องหรือแต่ละหัวข้อให้จบในแต่ละระดับชั้น
แต่ในทางปฏิบัติและในข้อเท็จจริงยังกระทำไม่ได้ เนื่องจากว่าเนื้อหาหรือหัวข้อต่างๆ
จะประกอบด้วยความกว้างและความลึก
ซึ่งมีความยากง่ายไปตามเรื่องรายละเอียดของเนื้อหา
นักพัฒนาหลักสูตรยอมรับในปรากฏการณ์นี้และเรียกการจัดเนื้อหาเรื่องเดียวกันไว้ในทุกระดับชั้นหรือหลายๆ
ระดับชั้น
แต่มีรายละเอียดและความยากง่ายแตกต่างกันไปตามวัยของผู้เรียนว่า หลักสูตรเกลียวสว่าน
ความหมาย
หลักสูตรเกลียวสว่าน
หรือบันไดวน (Spiral Curriculum) หมายถึง
การจัดเนื้อหาหรือหัวข้อเนื้อหาเดียวกันในทุกระดับชั้น
แต่มีความยากง่ายและความลึกซึ้งแตกต่างกัน กล่าวคือ ในชั้นต้นๆ จะสอนในเรื่องง่ายๆ
ตื้นๆ แล้งค่อยๆ เพิ่มความยากและความลึกลงไปเรื่อยๆ
ตามระดับชั้นที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ มีให้พบเห็นได้ในหลักสูตรทั่วๆ ไป เช่นหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 ของกระทรวงศึกษาธิการ ในวิชาคณิตศาสตร์กำหนดให้เรียนเรื่อง การคูณ
ทั้งในระดับชั้น ป.1 ป.2 ป.3-4
และ ป.5-6
แต่จะมีความยากและความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ในกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต จะกำหนดให้นักเรียนเรียนเรื่อง พืช ในทุกระดับชั้นจาก ป.1-6 โดยจะมีรายละเอียดมากขึ้น และลึกลงเรื่อยๆ
ที่มาของแนวความคิดเรื่องหลักสูตรเกลียวสว่าน
บรูเนอร์
(Bruner,
1960)
เป็นนักการศึกษาท่านหนึ่งที่มีบทบาทมากในการเผยแพร่ความคิดเรื่องหลักสูตรเกลียวสว่าน บรูเนอร์มีความเชื่อว่า
ในเนื้อหาของแต่ละเนื้อหาวิชาจะมีโครงสร้างและการจัดระบบที่แน่นอน จึงควรนำความจริงในข้อนี้มาใช้กับการจัดหลักสูตร
โดยการจัดลำดับเนื้อหาให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ อย่างมีระบบ
จากง่ายไปหายาก จากแนวความคิดนี้จึงมีการพัฒนาหลักสูตรในลักษณะบันไดวน หรือเกลียวสว่าน คือให้ลึกและกว้างออกไปเรื่อยๆ ตามอายุและพัฒนาการของเด็ก
การพัฒนาหลักสูตรควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ความคิด หรือหัวข้อเนื้อหาพื้นฐานซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกว่านักเรียนได้เรียนรู้ความคิดรวมของเรื่องนั้นๆ บรูเนอร์เชื่อว่า เราสามารถสอนเรื่องใดๆ
ให้แก่นักเรียนที่มีอายุเท่าใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าเด็กจะมีความพร้อมเต็มที่ และเขาได้ย้ำในประเด็นนี้ว่า เป็นไปได้ที่จะสอนความคิดและตัวแปรต่างๆ
ให้แก่เด็กได้ตั้งแต่เยาว์วัย และไม่จำเป็นต้องรอจนถึงเวลานั้นๆ
จากการนำแนวความคิดของหลักสูตรเกลียวสว่านไปใช้กับการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ฟรอสท์และโรแลนด์ (Frost and Roland,1969) ได้ยืนยันว่า
หลักสูตรเกลียวสว่านช่วยในการอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนอย่างมีลำดับขั้นตอนของโครงสร้างวิชาวิทยาศาสตร์บูรณาการเข้ากับกระบวนการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ได้อย่างดี ได้ยืนยันเพิ่มเติมว่า
ไม่เพียงแต่มีการนำหัวข้อเนื้อหาเดียวกันมาศึกษาในระดับชั้นที่ต่อเนื่องกันเท่านั้น
แต่ยังมีการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้มีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและวัยอีกด้วย จึงสรุปได้ว่า
เนื้อหาสาระและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กกับนักวิชาการระดับสูงแตกต่างกันเพียงปริมาณหรือความเข้มเท่านั้น ไม่ใช่ประเภทหรือชนิด
หลักสูตรเกลียวสว่านตามแนวคิดของดิวอี้
ดิวอี้ (Dewey, 1938) มีแนวคิดเรื่องหลักสูตรสว่านแตกต่างไปจากบรูเนอร์
กล่าวคือ ดิวอี้ มีความเชื่อว่า
การเจริญงอกงามขึ้นอยู่กับการฝึกใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาที่ได้มาจากประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่าจากปัญหาที่กำหนดให้จากภายนอก และในขณะที่ผู้เรียนฝึกใช้สติปัญญากับการแก้ปัญหาเหล่านี้ เขาจะได้ความคิดใหม่ๆ และพลังในการทำงาน ซึ่งจะเป็นฐานสำหรับแก้ปัญหาอื่นๆ อีกต่อไป
ในการปฏิบัติเช่นนั้นผู้เรียนจะเข้าใจถึงความสำคัญระหว่างกันของความรู้ในสาขาต่างๆ
และการประยุกต์ความรู้ไปใช้ในเชิงสังคมได้กว้างขวางขึ้น กระบวนการจึงเป็นเสมือนเกลียวสว่านที่มีลักษณะต่อเนื่องและรับช่วงกันไป
ดังนั้น
เกลียวสว่านของดิวอี้จึงไม่ได้เริ่มที่ประสบการณ์ของผู้เรียนแต่เพียงประการเดียว
ซึ่งนอกเหนือไปจากเนื้อหาวิชาที่จัดไว้สำหรับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่แต่มองประสบการณ์ทางการศึกษาว่า เป็นการขยายความสนใจและสมรรถภาพของผู้เรียนไปสู่ประสบการณ์การเรียนรู้ที่สูงขึ้นและกว้างขึ้น ดังนั้น
การเลือกเนื้อหาสาระที่จะต้องก้าวไปเรื่อยๆ
จำเป็นจะต้องสอดคล้องกับการเจริญงอกงามของประสบการณ์ ยกตัวอย่าง
เช่น
การศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์นั้น
ดิวอี้ได้ยืนยันว่าไม่แต่การนำไปสู่ความเข้าใจวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้นเท่านั้น
แต่จะต้องนำไปสู่ความเข้าใจปัญหาของสังคมในขอบข่ายที่กว้างขึ้นและที่ดีขึ้นด้วย ในประเด็นนี้
จำเป็นต้องมีการสังเคราะห์หลักสูตรให้สมบูรณ์ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ในแนวตั้ง
หมายถึง
การขยายความรู้ไปสู่ระดับที่สูงขึ้นไป
ส่วนแนวนอน หมายถึง
ความจำเป็นที่จะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างกันของความรู้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น